ต้นมะตูม

าา่้ร
ต้นมะตูม ต้นไม้ที่ชาวฮินดูนิยมใช้บูชาพระศิวะ ถือว่าเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ บางตำนานกล่าวไว้ว่า ต้นมะตูมนั้นเกิดจากการบันดาลขององค์พระศิวะเอง แต่บางตำนานก็ว่าเกิดจากพระลักษมีเทวี
ต้นมะตูมนี้ พบได้ทั่วไปในแถบเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แน่นอนว่ารวมถึงพบในประเทศไทยด้วย กล่าวกันว่า มะตูมมีสรรพคุณทางยามากมาย ทั้ง ใบ ราก และผล ต่างสามารถนำมาปรุงยาได้ทั้งสิ้น
ในอินเดียเองสามารถพบใบมะตูมและผลมะตูมได้ ตามร้านขายดอกไม้บูชา หรือตามโบสถ์ฮินดูต่างๆ ราคาไม่แพงนัก คือ ราวๆ กำละ 10 รูปี ซึ่งชาวฮินดูนิยมซื้อไปบูชาพระศิวะ แต่เราคนไทยซื้อมาจิ้มน้ำพริกกัน
มะตูม มีชื่อเรียกในภาษาฮินดีว่า sirphan ส่วนในภาษาอังกฤษนั้นจะเรียกว่า bael, wood apple หรือ stone apple เมื่อมะตูมได้ชื่อว่าเป็นต้นไม้ของพระศิวะแล้ว จึงต้องมีความเป็นมาและมีสรรพคุณที่ไม่ธรรมดาแน่นอน
.jpg)
ตามตำนาน ศิวะปุราณะ กล่าวไว้ว่า มะตูมนั้นเกิดมาจากกายของพระศิวะ ใครก็ตามที่ได้ทำพิธีล้างบาปด้วยต้นมะตูม หรือใบมะตูมนี้ เปรียบเสมือนได้เช่นเดียวกับการอาบน้ำด้วยแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ทุกๆ สายรวมกันเลยทีเดียว อีกทั้งลักษณะของใบมะตูมก็คล้ายกับตรีศูลที่พระศิวะทรงถือในพระหัตถ์ขวา และกล่าวไว้อีกว่า มะตูม มีอำนาจในการชำระล้างจิตใจ และขับไล่ความชั่วร้ายต่างๆ อีกด้วย
ดังนิทานเรื่องที่ว่า มีพรานป่าที่มีจิตใจโหดเหี้ยม ได้ออกไปล่าสัตว์เพื่อเป็นอาหารแก่ครอบครัวของตนเอง ในคืนวัน ศิวะราตรี ที่มีการเฉลิมฉลอง และ บูชาพระศิวะเทพ พรานป่าจึงมุ่งไปที่แม่น้ำและปีนขึ้นต้นไม้เพื่อซุ่มรอสัตว์ป่าลงมากินน้ำโดยไม่ทันสังเกตว่า ต้นไม้ที่ปีนขึ้นไปนั้น คือ ต้นมะตูม และบนต้นมะตูมนั้นมีหม้อใส่น้ำ แขวนอยู่ รวมถึงยังมีศิวะลึงค์อยู่ใต้ต้นไม้อีกด้วย
ครั้นมีกวางมากินน้ำ นายพรานจึงเงื้อธนูขึ้น พร้อมที่จะสังหารกวางตัวนั้น แต่ด้วยความเลินเล่อ ธนูไปกระทบหม้อน้ำที่แขวนอยู่ ทำให้เกิดเสียงดัง และทำให้ใบมะตูมตกลงสู่ศิวะลึงค์เบื้องล่าง จึงนับว่าเป็นการบูชาที่ไม่ได้ตั้งใจ
เมื่อกวางป่าได้ยินเสียงดังกล่าว จึงอ้อนวอนต่อนายพรานว่า ขอให้ได้กลับไปดูแลลูกน้อยของตนก่อน แล้วจะกลับมาเป็นอาหารให้แก่นายพราน ด้วยการบูชาที่ไม่ได้ตั้งใจนั้น จึงทำให้จิตใจของพรานป่าลดความดุร้ายลง จึงยินยอมปล่อยให้กวางตัวนั้นกลับไปหาลูกๆ ของมัน
สักพักหนึ่งก็มีกวางตัวผู้ ซึ่งมาตามหาภรรยา มาพบเหตุการณ์เดียวกัน คือ พรานป่า ง้างธนู แต่ก็ไปโดนหม้อน้ำที่แขวนอยู่ และใบมะตูมก็ร่วงหล่นใส่ศิวะลึงค์อีกเช่นเคย สุดท้ายเมื่อกวางทั้งคู่กลับไปพบกันที่รังของมัน จึงตกลงใจพากันมาทั้งครอบครัวเพื่อตอบแทนนายพรานและรักษาสัจจะของตน
แต่ด้วยเหตุที่นายพรานได้บูชาศิวะลึงค์โดยใบมะตูมอย่างไม่ได้ตั้งใจนั้น จิตใจของนายพรานจึงถูกชำระล้างและขจัดความหยาบช้าไปด้วยอานิสงส์ของการบูชานั้น จึงยอมปล่อยกวางไปทั้งครอบครัว
จึงกล่าวได้ว่า มะตูม เป็นต้นไม้ที่มีแฝงไปด้วยความศักดิ์สิทธิ์ และความเชื่อมากมาย ยกตัวอย่างเช่น ประเพณีของชาวเนปาล ที่นิยมให้หญิงสาวแต่งงานกับผลมะตูมเสียก่อนที่จะแต่งงานจริงๆ ตราบใดที่ผลมะตูมนั้นไม่แตกเสียหาย จะมีความเชื่อที่ว่าหญิงนั้นจะไม่มีทางเป็นม่าย หรือถ้าเกิดสามีที่เป็นคนจริงๆ เกิดเสียชีวิตขึ้นมาในภายหลัง จะไม่ถือว่าหญิงนั้นอยู่ในฐานะหญิงม่าย เพราะสามีที่แท้จริงคือผลมะตูม หรือพระศิวะนั่นเอง ประเพณีมีชื่อเรียกว่า Bel Baha
แม้แต่ในประเทศไทย ใบมะตูม ถือว่าเป็นของสูง ที่ใช้ในพิธีครอบครู รวมถึงพีธีหลวงต่างๆ เช่น พระมหากษัตริย์จะทรงทัดยอดมะตูมที่หูของพระยาแรกนาขวัญ หรือการทัดหูเพื่อแต่งตั้งทูต รวมถึงการทัดหูในพิธีพระราชทานน้ำสังข์ในงานแต่งงานด้วย
มีเรื่องเล่าของคนไทยโบราณ และยังนิยมทำกันอยู่คือ การนำผลมะตูมไปให้พระเสกด้วยบทคาถา ของพระองคุลีมาล และนำมาต้มให้หญิงท้องแก่กิน จะทำให้คลอดลูกได้ง่าย หรือการนำยอดมะตูม เก้ายอด นำเข็มมาทิ่มพร้อมทั้งว่าคาถา เก้าจบ แล้วจึงนำไปให้เด็กกินทุกเช้า เชื่อกันว่าจะทำให้เด็กมีสติปัญญาดี
ที่เด็ดไปกว่านั้นก็คือว่า กรณีที่มี ผีเข้า เจ้าทรงแล้วไม่ยอมออก ทำยังไงก็ไม่ไป ให้นำใบมะตูมไปทัดหู เขารับรองกันว่า “ร่วงทุกราย”


ชื่อภาษาอังกฤษ Bengal Quince, Bael, Bael fruit, Elephant’s Apple
ชื่อวิทยาศาสตร์ Aegle marmelos ( L.) Correa ex Roxb
วงศ์ Rutaceae
ชื่อพื้นเมือง มะปิน (เหนือ) กะทันตาเถร ตูม ตุ่มตัง (ใต้) มะตูม (กลาง,ใต้) บัวตูม
(ยโสธร-อิสาน) หมากตูม (อุดรธานี มหาสารคาม อิสาน) พะเนิว(เขมร)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ มะตูมเป็นไม้ขนาดกลางสูงถึง 15 เมตร ตามลำด้นและกิ่งมีหนามแข็งแหลมคมอยู่มากมาย เรือนยอดกลม เปลือกลำต้นเรียบ สีน้ำตาล ใบเป็นใบประกอบ ชนิดมีใบย่อย 3 ใบ ออกเวียนเป็นเกลียวรอบกิ่ง ใบย่อย รูปไข่หรือรูปหอกแกมรูปไข่ ปลายเรียวแหลมกว้าง 1.75-7.5 ซม.ยาว 4-13.5 ซม.ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ฐานใบมน ก้านใบยาว ใบมีกลิ่นหอม หากนำใบส่องแดดจะเห็นเนื้อใบมีต่อมน้ำมันจุดใส่ ๆ กระจายอยู่
มะตูมพบประปรายตามป่าเบญจพรรณ ยกเว้นภาคอีสานและภาคใต้ ออกดอกประมาณเดือนมีนาคม-พฤษภาคม และให้ผลแก่ประมาณ ธันวาคม-กุมภาพันธ์

มะตูมในประเทศไทยเรามี 3 ชนิดคือ
- มะตูมไข่ มะตูมไข่จะมีลักษณะผลกลม
- มะตูมบ้าน มะตูมบ้านจะมีลักษณะผลยาว และ
- มะตูมนิ่ม มะตูมนิ่มจะมีลักษณะผลยาวรูปกลมรีคล้ายไข่ เช่นเดียวกับมะตูมบ้าน ผลอ่อนสีเขียว เปลือกแข็ง แต่เมื่อผลสุกเป็นสีเหลือง เปลือกจะอ่อนนิ่ม ใช้นิ้วกดจะบุ๋มลงได้ ไม่เหมือนมะตูมทั่วไป จึงถูกเรียกว่า มะตูมนิ่ม
ดอกเล็ก สีขาวอมเหลือง หรือสีเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอมไกล กลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบดอก 4-5 กลีบ เกสรตัวผู้มีหลายอัน เกสรตัวเมีย 1 อัน ผลมะตูมมีเปลีอกแข็งมาก ผลอ่อนเนื้อในมีรสหอมหวาน เส้นผ่าศูนย์กลาง 8-10 ซม. ยาว 12-18 ซม. เนื้อในสีเหลืองมียางเหนียว เมล็ดรูปรี
มะตูม มีคุณค่าทางโภชนาการคือ ประกอบด้วย สารเพคติน (pectin) สารเมือก (mucilage) และสารแทนนินซึ่งให้รสฝาด นอกจากนี้ยังมีสารขมต่าง ๆ ได้แก่ สารคูมาริน (coumarin) และมีสารฟลาโวนอยด์ (flavonoids) อีกด้วย ดังนั้นจึงมีสรรพคุณแก้ท้องเสีย แก้บิด ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ


ยางของผลดิบใช้ผสมสีทากระดาษแทนกาวได้ เปลือกของผลให้สีเหลืองใช้ย้อมผ้า ต้นมะตูมมีเนื้อไม้ละเอียดสีเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอม ใช้ทำตัวเกวียน เพลาเกวียน และหวี ผลเนื้อในเชื่อมทำของหวาน หรือนำมาตากแห้งทำเครืองดื่ม ช่วยย่อยอาหาร รักษาโรคเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร แก้ท้องเสีย ส่วนผลมะตูมสุกใช้เป็นยาระบาย
ลักษณะของมะตูม ผลเป็นรูปไข่หรือรูปกลมแล้วแต่พันธุ์ มีผิวเกลี้ยง เปลือกหนาแข็ง ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่สีเหลือง เนื้อในสีส้มเหลือง เนื้อนิ่ม มีเมล็ดตรงกลางเป็นพู มียางเหนียวใส นำมาใช้เป็นกาวจากธรรมชาติได้ เนื้อมะตูมมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว


ผลอ่อนของมะตูมนำมาหั่นเป็นแว่น ๆ ตากแห้ง ใช้ชงเป็นชามะตูม ใช้ดื่มแก้กระหายได้ดี ผลสุกของมะตูมใช้เป็นยาระบาย แก้ครั่นเนื้อครั่นตัว แก้ท้องเสีย แก้บิดเรื้อรัง ช่วยย่อยอาหาร แก้ลมเสียดแทงในท้อง แก้มูกเลือด แก้กระหายน้ำ ขับลม เป็นยาธาตุสำหรับผู้สูงอายุที่ท้องผูก และเป็นยาขับลม เนื่องจากมีสารเพคตินจึงมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคในลำไส้ได้ โดยสารเพคตินจะไปรวมกับสารพิษ (toxin) ที่ผลิตโดยเชื้อก่อโรค ยอดอ่อนและผลดิบของมะตูม นิยมใช้รับประทานเป็นผักสด

ยอดอ่อนและใบอ่อนของมะตูมมีรสเผ็ดร้อน อมฝาด กลิ่นหอม เป็นยาบำรุงธาตุ ทำให้เจริญอาหาร แก้ท้องเดิน
ผลมะตูมอ่อน เป็นยาบำรุงธาตุ ทำให้เจริญอาหาร แก้ลม ขับเสมหะ
ผลมะตูม แก้สรรพคุณปิดธาตุบำบัดเสลด ขับลม เจริญไฟธาตุ
เปลือกของรากและลำต้นของมะตูม สามารถลดไข้ และใช้เป็นยา
รักษาไข้มาลาเรียในสมัยก่อน ขับลมในลำไส้
ราก แก้พิษฝี พิษไข้ รักษาน้ำดี
ใบสด แก้ไอ ขับเสมหะ หากมีอาการหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ให้เอาใบมะตูมดิบ ๆ
มาคั้นเอาน้ำเพื่อดื่ม ช่วยบรรเทาอาการไอและเสมหะเรื้อรังลงได้

ใบมะตูมถือเป็นใบไม้ศืริมงคล มีความเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมและพิธีมงคลของไทย ใช้ทัดหูในพิธีพราหมณ์ และใช้ประพรมน้ำมนต์ ตามความเชี่อที่ถ่ายทอดกันมาจากบรรพบุรุษ งานสมรสพระราชทานคู่บ่าวสาวก็จะมีใบมะตูมทัดหู การทำน้ำมนต์เพื่อสะเดาะเคราะห์ และการครอบครูก็จะใช้ใบมะตูมเป็นองค์ประกอบในพิธี คนโบราณเชื่อว่า มะตูม เป็นไม้มงคลชนิดหนึ่งที่ควรมีไว้ในบริเวณบ้าน จะสามารถทำให้เกิดกำลังใจ และความมานะพยายามที่จะต่อสู้ ฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ ในชีวิต
การปลูก
มะตูมขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ดและการตอนกิ่ง เป็นไม้ปลูกกลางแจ้ง และทนต่อความร้อนได้ดี